ตรวจสุขภาพตามไลฟ์สไตล์ ปรับแผนดูแลสุขภาพ ในแบบที่เหมาะกับเรา

ปกติคนเรามีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรกที่ชอบทำ อาหารที่ชอบกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน การท่องเที่ยว ยิ่งในวัยทำงานที่ต้องพบกับสภาพแวดล้อมนอกบ้าน ความเครียดจากงานที่อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น

ตอนนี้การใช้ชีวิต พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเทรนด์สุขภาพและการแพทย์ในอนาคต จะเป็นการดูแลทุกคนให้มีสุภาพที่ดี อย่างในเรื่องของการรับประทานอาหาร จากที่เมื่อก่อนคิดว่า อาหารคลีน คืออาหารสำหรับคนลดน้ำหนัก คนอ้วน แต่ปัจจุบันพบว่า คืออาหารหลักที่มีประโยชน์ ปลอดภัย การช้อปปิ้งออนไลน์ที่มีความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปเบียดซื้อของในที่แออัดอีกต่อไป เป็นต้น

และจากการชอบที่ไม่เหมือนกัน จึงเกิดเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกัน ทำในสิ่งที่ชอบเหมือนๆ กัน ซึ่งส่งผลถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ ตามมา และล้วนพบความเสี่ยงต่อโรคภัยได้ทั้งนั้น เกิดเป็นค่าใช้จ่ายมากมายตามมาในการรักษาโรค และบางโรคอาจเรื้อรัง ต้องเข้ารับการรักษาระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เลือกที่จะป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองก่อนที่จะเจ็บป่วย คอยอัพเดทเทรนด์การดูแลสุขภาพ เพื่อให้เหมาะกับตนเอง เช่น การปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่ปรับกันมานั้นเหมาะสมกับตนเองแล้ว เพราะสุขภาพเป็นสิ่งที่สะสมกับเรามาอย่างยาวนาน และจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน การตรวจสุขภาพตามไลฟ์สไตล์จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เราสามารถรู้ทันสภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองเพื่อนำมาวางแผนรับมือการดูแลสุขภาพตนเองได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ก่อนอื่นเราควรรู้ว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในแต่ละกลุ่มมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ดังนี้

1. กลุ่มคนทำงานหนัก ทำงานเกินเวลา ได้แก่ วัยทำงาน เป็นวัยที่กำลังสร้างตัวจึงมักละเลยการดูแลสุขภาพ ใช้ชีวิตเร่งรีบ เกิดความเครียดสะสม กลุ่มนี้มักมีโอกาสเกิดโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน ออฟฟิศซินโดรม กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรดไหลย้อน เป็นต้น

2. สายปาร์ตี้ ที่รักการดื่มแอลกอฮอล์เป็นชีวิตจิตใจ ในบางรายมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีปัญหา เรื่องของตับ ไต และปอด เป็นต้น

3. กลุ่มชอบออกกำลังกาย กลุ่มนี้จะมี Health Consciousness สูง แต่ในความมั่นใจของตนเองนั้นบางครั้งอาจจะมีความเข้าใจผิดอยู่บางอย่าง เช่น ออกกำลังกายอยู่แล้ว วิ่งมาราธอนอยู่แล้ว แข็งแรงดีไม่ได้มีอาการที่น่ากลัวอะไร มักเกิดความชะล่าใจเพราะคิดว่าดูแลตัวเองได้ดีแล้ว แข็งแรงดี แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าในการออกกำลังกายที่เราทำอยู่นั้นเหมาะสมกับเราหรือไม่ ผลลัพธ์จากการออกกำลังกายจะดีอย่างที่เราเข้าใจหรือไม่ ที่คุณหมอมักพบคือ นักวิ่งที่วิ่งเป็นประจำ พอมาตรวจสุขภาพแล้วมักพบว่ามีไขมันสูงมาก เพราะไม่เคยควบคุมเรื่องอาหาร และด้วยความแข็งแรงดีก็คิดว่า ไม่เป็นอะไร แต่พอสแกนตรวจหลอดเหลือดหัวใจด้วย CT Coronary ปรากฎว่ามีแคลเซียมเกาะอยู่มาก จำเป็นที่จะต้องไปพบหมอหัวใจ และรีบทำการรักษา เพราะถ้าเราดูแค่ผล Lab แค่ LDL ก็เหมือนไม่เป็นอะไร ไม่มีอาการ ยังไม่จำเป็นต้องรักษา แต่เมื่อเราได้ตรวจอย่างละเอียดด้วยเครื่องมือที่เฉพาะทางมากขึ้นก็จะทำให้เห็นว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะต้องทำการรักษา สามารถควบคุมให้หายได้ก่อนที่จะเป็นอันตราย คำถามคือ ทำไมออกกำลังกายบ่อย ร่างกายแข็งแรงดีถึงเป็นได้ สาเหตุที่พบนั้นก็มาจากหลายปัจจัย ที่ถึงแม้ว่าจะออกกำลังกายมากก็อาจยังมีโอกาสพบได้ เช่น จากกรรมพันธุ์ หรือก่อนหน้านี้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตการทานอาหารไม่ดี หลอดเลือดอาจจะพังแล้ว หรือมีการสูบบุหรี่มาก่อนแล้วเพิ่งมาเริ่มปรับไลฟ์สไตล์ในภายหลัง จริงๆ แล้ว สุขภาพดีหรือไม่ดีนั้นเกิดจากการสะสมพฤติกรรมของตัวเราเองเป็นทุนเดิม และไม่ใช่ว่าปรับปีนี้แล้วปีหน้าจะดีเลยในทันที บางคนใช้ชีวิตพังมาตลอดในช่วงวัยรุ่นเราก็ไม่ทันได้รู้ตัวหรอกว่าในวันข้างหน้าพฤติกรรมการใช้ชีวิตเหล่านั้นจะส่งผลต่อสุขภาพเราในระยะยาวต่อมา หรือในกรณีกลุ่มคนออกกำลังกายเยอะ กล้ามใหญ่ ๆ หมอเคยเจอเทรนเนอร์ที่คอยสอนคนมาเทรนออกกำลังกายอยากได้สัดส่วนนั้นต้องออกกำลังแบบท่านี้ แต่พอเจอตัวจริงปรากฎว่าใช้การฉีดฮอร์โมน ซึ่งเป็นอันตราย แล้วค่าฮอร์โมนก็สูงขึ้นมาก แต่คนกลุ่มนี้จะมีความมั่นใจว่าปกติเพราะปีก่อนตรวจสูงแบบนี้ ก็ไม่เป็นไร

4. กลุ่มกรรมพันธุ์ ในสายนี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะนอกเหนือจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลแล้วยังมีในเรื่องของโรคทางกรรมพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็น มะเร็ง เบาหวาน หัวใจ กลุ่มนี้ยิ่งต้องเช็กสุขภาพตัวเองเป็นประจำ เพื่อเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพตัวเอง ก่อนที่จะเป็นโรคดังกล่าว

5. กลุ่มผู้สูงวัย ยิ่งควรต้องดูแลสุขภาพ คอยตรวจเช็กกันใกล้ชิด เพราะมีความเสื่อมถอยของร่างกายอย่างชัดเจน ร่างกายเผาผลาญน้อยลง ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เริ่มรวนตามวัย กระดูกพรุน เป็นต้น

6. กลุ่มสายอาหารสุขภาพ ได้แก่ สายคีโต กิน low carb ทำ IF ส่วนใหญ่เกิน 50% มักบริโภคไม่ถูกวิธี เช่น การกินคีโต คือการทานไขมันดี แต่กลับกินทุกอย่างที่เป็นไขมัน ผลที่ตามมาคือ พบคอเลสเตอรอล และไขมันไม่ดีสูง และคุณหมออยากแนะนำว่าไม่ควรทานคีโตติดกันนานๆ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ทานได้แต่ให้เว้นระยะ อีกอย่างคือ หลายๆ คนพอหยุดทาน กลับไปกินแบบเดิม มีพฤติกรรมแบบเดิม ก็มีโอกาสที่จะโยโย่ได้ ไม่ว่าเราจะลดน้ำหนักด้วยวิธีไหนก็ตาม เมื่อลงแล้วเราควรปรับรูปแบบพฤติกรรมเสียใหม่ ส่วนอาหารคลีนนั้น เป็นอาหารที่ดี อยู่แล้ว สามารถทานได้ยาวๆ เลย
ไม่ว่าคุณจะมีพฤติกรรมแบบไหนก็สามารถปลอดภัยห่างไกลโรคได้ ขอเพียงดูแลตนเองให้ดีในทุกด้าน ปรับเปลี่ยนแผนการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม ทานอาหารครบ 5 หมู่ พักปผ่อนให้เพียงพอ หมั่นตรวจเช็กอัพเดทสุขภาพเป็นระยะๆ โอกาสที่จะเสี่ยงโรคจะลดลง เพราะหากเกิดมีอะไรที่ผิดปกติรุนแรงก็สามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนที่โรคจะบานปลาย

บทความโดย:

พญ.ธนีศา ภานุมาตรัศมี

แพทย์หัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ
โรงพยาบาลพญาไท 1

 

Loading