ไทยประกันชีวิตโชว์ผลงานไตรมาส 1 ปี 2566 กวาดกำไรกว่า 3.1 พันล้านบาท

ไทยประกันชีวิตโชว์ผลงานไตรมาส ปี 2566 กวาดกำไรสุทธิ 3,129 ล้านบาท มีมูลค่ากำไรของธุรกิจใหม่ (VONB) เพิ่มขึ้น 8.7% เบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (APE) 3,028 ล้านบาท ผลจากการเติบโตทุกช่องทางการขาย และการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ

 

             นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดเผยถึงผลประกอบการของบริษัทฯ ในไตรมาส 1 ปี 2566 ว่า ไทยประกันชีวิตยังคงมีผลประกอบการที่เข้มแข็ง มีกำไรสุทธิ 3,129 ล้านบาท และมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (Annual Premium Equivalent หรือ APE) ที่ 3,028 ล้านบาท

           ขณะที่ผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญา หรือมูลค่ากำไรของธุรกิจใหม่ (Value of New Business  หรือ VONB) อยู่ที่ 1,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% ส่วนอัตรากำไรของธุรกิจใหม่ (VONB Margin) มีอัตราที่ 56.2% เพิ่มขึ้นถึง 9.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจาก VONB ที่เติบโตทุกช่องทางการขาย โดยช่องทางตัวแทนฯ เติบโตจากการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการขาย และมุ่งเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลกำไรอย่างยั่งยืน สะท้อนได้จาก VONB Margin ช่องทางตัวแทนฯ ที่สูงขึ้นถึง 56.7%

           ขณะเดียวกัน VONB ของช่องทางพันธมิตรยังคงเติบโต เนื่องมาจากความสำเร็จของกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทฯ ร่วมมือกับพันธมิตรธนาคาร นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลกำไรสูงขึ้นร่วมกับการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่น

             แม้ว่ากำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 จะลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แต่บริษัทฯ มีกำไรจากการรับประกันภัยที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งอยู่ที่ 2,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% ซึ่งการลดลงของกำไรสุทธิเป็นผลกระทบจากการลดลงของกำไรจากการลงทุน เนื่องจากการลดลงของกำไรจากการขายเงินลงทุนและการเปลี่ยนแปลงของมูลค่ายุติธรรม เป็นไปตามผลตอบแทนของตลาดและมุมมองในการเคลื่อนไหวของตลาดทุนในไตรมาส ปี 2565 โดยบริษัทฯ ได้ขายเงินลงทุนอย่างมีนัยสำคัญก่อนภาวะตลาดแนวโน้มขาลง จึงทำให้บริษัทฯ มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สูงเป็นกรณีพิเศษ

           “บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างกำไรในระยะยาว และมีความอ่อนไหวน้อยต่ออัตราดอกเบี้ย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือ Participating Product ผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์นี้จะผลักดันให้บริษัทฯ มีกำไรอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ” นายไชยกล่าว

           ด้านอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ CAR Ratio ของบริษัทฯ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 449.6% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดอยู่ที่ 140% ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งอันเป็นรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน

           ไทยประกันชีวิตให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์ในการ “มุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน” ตลอดจนการนำหลักการ ESG ผนวกเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ด้วยการริเริ่มโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 หลายโครงการ อาทิ การจัดทำและประกาศใช้จรรยาบรรณสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ESG เพื่อวิสาหกิจชุมชน “ไทยประกันชีวิต สุขยั่งยืน มีคืน” เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงประกันชีวิตและประกันสุขภาพสำหรับคนไทย หรือการเผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 ที่จัดทำขึ้นเป็นฉบับแรก อ้างอิงการรายงานตามมาตรฐานการายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative Standards (GRI Standards)” นายไชยกล่าว

Loading