กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โชว์กำไรปี 66 เติบโต 32.8% ชูกลยุทธ์ปี 2567 เร่งขยายพอร์ตสินเชื่อ SME และลูกค้ารายย่อย

           นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยราว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว จากการกระตุ้นภาครัฐและรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การส่งออกที่กลับมาขยายตัวเนื่องจากการปรับตัวของสินค้าคงคลังในห่วงโซ่อุปทานโลกมีแนวโน้มจะสิ้นสุดลง และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIs) ซึ่งเป็นผลดีต่อไทยเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ในขณะที่การลดความเสี่ยงของการกระจุกตัวของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไป การเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิชย์โดยรวมเติบโต อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงของประเทศเศรษฐกิจหลัก และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัจจัยเหล่านี้ สร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดทุนไทย
           ผลการดำเนินงานปี 2566 กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 2,096 ล้านบาท เติบโต  ร้อยละ 32.8 เมื่อเทียบกับปี 2565 และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,693 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 54.9 เมื่อเทียบกับปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากสินเชื่อบ้าน โดยกลุ่มธุรกิจทางการเงินยังคงความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น และควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.65 รวมทั้งได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอย่างระมัดระวังโดย NPL Coverage อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 200 LH Bank ได้ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์อย่างมีประสิทธิภาพในการเพิ่มสินเชื่อบ้าน การเพิ่มลูกค้าเงินฝากรายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงแอปพลิเคชัน LHB You และ Profita ที่ใช้งานง่ายและมีฟังก์ชันครบครัน
           ทั้งนี้ธนาคารได้รับรางวัล The Best App for Customer Experience : Global Retail Banking Innovation Award 2023 และ Best Mobile Banking – Wealth Management 2023 รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในการ    มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าการให้การสนับสนุนสินเชื่อ Sustainable Loan อย่างต่อเนื่อง และการลงทุนใน Green Bond โดยธนาคารได้รับ ESG 100 Certificate และ SET ESG Rating “BBB”
          สำหรับปี 2567 ธนาคารยังคงเดินตามแผนเชิงกลยุทธ์และขับเคลื่อนการเติบโตผ่านการขยายฐานลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อยและ SMEs ผ่านช่องทางดิจิทัล พันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนรูปแบบการทำงานและกระบวนใหม่โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สำหรับการดำเนินการหลัก ได้แก่
– มุ่งเติบโตในพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ผ่านการจัดการด้านอัตราดอกเบี้ย และการจัดการต้นทุนเงินให้มีประสิทธิภาพ  การเพิ่มฐานลูกค้า SME โดยการทำ Program Lending & Package Solution ที่ออกแบบสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมปรับกระบวนการทำงาน เพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบริการและความรู้ของเจ้าหน้าที่ การให้คำปรึกษาทางการเงินและทางธุรกิจกับ SME เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Refinance โดยตั้งเป้าเติบโตร้อยละ 20 รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ Wealth  ผลิตภัณฑ์เงินฝาก ผลิตภัณฑ์การลงทุน ผลิตภัณฑ์ประกันที่ออกแบบพิเศษสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม
– ยกระดับบริการทางการเงินผ่าน Digital Platform การพัฒนาแอปพลิเคชัน LHB You และ Profita อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์
– การให้ความสำคัญกับ Sustainable Banking เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั้งจากการดำเนินของธุรกิจธนาคารเอง และของลูกค้าที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคาร (Financed Emission) การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจก (Transition Loan) การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ตามมาตรฐานสากล
             มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund กล่าวว่าปี 2567 กลยุทธ์ของบริษัทมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลการดำเนินงานในกองทุน ตราสารทุนไทยและต่างประเทศให้เหมาะสมกับความเสี่ยงโดยมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะบริหารกองทุนรวมให้อยู่ใน Top Quartiles และนำเสนอข้อมูลกองทุนที่เหมาะสม และทันต่อสภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการแบบครบวงจรสำหรับลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และจัดให้มีการ     ให้ความรู้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs บริษัทมีเป้าหมายการบริหารจัดการกองทุนให้เติบโต และการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ รวมทั้งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการขยายธุรกิจในส่วนของ REIT Trustee
            ผลการดำเนินงานการบริหารจัดการกองทุนปี 2566 บริษัทมีขนาดกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการนับรวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) มีมูลค่าประมาณ 61,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2565 ซึ่งเติบโตมาจากการเพิ่มทุนในกลุ่ม REITs และยังคงมีแนวโน้มเติบโต  อย่างต่อเนื่อง สำหรับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 14,245 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 0.1 ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 7,047 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 16.6
          นอกจากนี้บริษัทยังการันตีความสำเร็จด้วยรางวัลบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนดีเด่น “Outstanding Asset Management Company Awards” ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน จากงาน SET AWARDS ปี 2565-2566
         กานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Securities) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดแกว่งตัวลงตลอดทั้งปี โดยมีปัจจัยกดดันจากสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ยังคงยืดเยื้อ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าคาด และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นสูงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 จนเกิดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและไทยถึงร้อยละ 3 ส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก ให้ตลาดหุ้นไทยทำผลงานได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆทั่วโลก สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปิดตลาดที่ 1,415.85 จุด ลดลงร้อยละ 15.1 โดยมีแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติเป็นตัวกดดันหลักโดยขายสุทธิถึง 1.92 แสนล้านบาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 51 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ปี 2566 เฉลี่ยต่อวันที่ 53,331ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 31
          ปี 2566 บริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการ โดยพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทมีรายได้ 541.35 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับปี 2565 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์
             กลยุทธ์ปี 2567 บริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งด้านระบบเทคโนโลยีและด้านการให้คำแนะนำการลงทุน และมุ่งเติบโตผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) ของลูกค้าเดิม การดำเนินธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการให้บริการที่ครบวงจร

Loading