อย. เข้มงานด่าน การันตีความปลอดภัยคนไทยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้า

อย. มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจ ปกป้องคนไทยจากอันตรายสินค้านำเข้า ให้ด่านอาหารและยา ใช้เทคโนโลยี “ตรวจ ปล่อย ผ่าน” อำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็ว ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้ามีมูลค่ามากกว่า 9 พันล้านบาทต่อปี เป็นเครื่องสำอาง และอาหารมากสุด

เมื่อวันที่ 25-26 มีนาคม 2567 นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาสะเดา ด่านอาหารและยาท่าเรือน้ำลึกสงขลา และด่านอาหารและยาท่าอากาศยานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยด่านอาหารและยาสะเดา เป็นด่านอาหารและยาที่มีหน้าที่กำกับดูแลการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพและป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 4,866 ใบขน (52,620 รายการ) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ากว่า 8.7 พันล้านบาทต่อปี โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทั้งนี้ ด่านอาหารและยาสะเดาตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านระบบ National Single Window: NSW โดยเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้ากับกรมศุลกากร นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา หากผลวิเคราะห์ไม่ได้มาตรฐานจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และกรณีอาหารที่มีผลตรวจวิเคราะห์ไม่ได้มาตรฐานจะถูกนำเข้าระบบกักกันของด่านอาหารและยา เพื่อเฝ้าระวังสินค้าที่นำเข้าครั้งต่อไปอย่างเข้มงวด

ด่านอาหารและยาท่าเรือน้ำลึกสงขลา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 382 ใบขน (873 รายการ) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ากว่า 1,117 ล้านบาทต่อปี โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ อาหารทะเล ชาผง เป็นต้น และด่านอาหารและยาท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีหน้าที่ตรวจผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศและเที่ยวบิน CIQ รวมทั้งตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีการสุ่มตรวจผู้โดยสารจำนวน 8,158 ราย มีการผ่อนผันการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อใช้ส่วนตัวจำนวน 10,042 รายการ และมีผู้โดยสารที่พบการกระทำความผิดจำนวน 2 ราย พบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 11 รายการ

ทั้งนี้ อย. พร้อมอำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโต และมุ่งมั่นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ หากพบการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย มีการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

Loading