อย. พร้อมเข้าสู่องค์กรดิจิทัล ด้วยการพัฒนาระบบบริการออนไลน์ครบวงจร ผ่าน 3 e ภายใต้แนวคิด “อย. ของ่าย ปลอดภัย ได้ที่บ้าน”

อย.พร้อมเข้าสู่องค์กรดิจิทัล ด้วยการพัฒนารูปแบบการทำงานผ่านระบบออนไลน์ 3 e ประกอบด้วย 1.e-Submission 2.e-Payment และ 3.e-License ภายใต้แนวคิด อย. ของ่าย ปลอดภัย ได้ที่บ้าน มุ่งเน้นการลดขั้นตอนการทำงาน ลดระยะเวลาให้บริการ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ผู้ประกอบการ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเข้าสู่ระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน FDA Smart Life “อย. ของ่าย ปลอดภัย ได้ที่บ้าน” โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนระบบราชการให้บรรลุวิสัยทัศน์การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมโยงบูรณาการ รวมทั้งการพัฒนาเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนของหน่วยงานรัฐ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา อย. สู่องค์กรดิจิทัล (FDA Digital Transformation) ด้วยการปรับรูปแบบการทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร โดยเฉพาะการให้บริการขออนุญาตต่าง ๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกระดับ


อย. จึงมุ่งมั่น พัฒนา นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบงานต่าง ๆ สำหรับให้บริการประชาชน และผู้ประกอบการ ผ่านระบบออนไลน์แบบครบวงจร เพื่อรองรับนโยบายการเป็น Smart อย. “รวดเร็ว ปลอดภัย นำไทยสู่สากล” โดยขณะนี้ อย. ได้พัฒนาระบบการให้บริการอนุญาตผ่านระบบสารสนเทศ (FDA Smart Licensing) ที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการโดยไม่ต้องเดินทางมาที่ อย. ภายใต้แนวคิด “อย. ของ่าย ปลอดภัย ได้ที่บ้าน” ประกอบด้วย
1) ผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ การยื่นจดทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การยื่นแจ้งรายละเอียดอาหารเสี่ยงต่ำ เช่น น้ำบริโภค อาหารขบเคี้ยว ขนมอบ เป็นต้น
2) ผลิตภัณฑ์ยา ได้แก่ จดแจ้งเภสัชเคมีภัณฑ์ เช่น เภสัชเคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตยา เป็นต้น
3) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ การยื่นขอจดแจ้งเครื่องสำอาง การต่ออายุใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ลิปสติก แป้งทาหน้า เป็นต้น
4) ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ได้แก่ การยื่นขอจดแจ้งเครื่องมือแพทย์ในระดับความเสี่ยงประเภทที่ 1 เช่น Examination gloves, Disposable Syringe, Thermometer เป็นต้น


5) ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ได้แก่ การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ขออนุญาตสถานที่วัตถุอันตราย การต่ออายุเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทุกประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง เป็นต้น
6) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ การขออนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประเภทยาจากสมุนไพร ทั้งยาสมุนไพรเดี่ยว และยาตำรับ ซึ่งอ้างอิงจากที่ประกาศกำหนดให้เป็น positive list เช่น ยาประสะไพล ยาหอมเทพจิตร
ยาขมิ้นชัน ยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
7) งานด่านอาหารและยา ได้แก่ การขอนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ (ยา เครื่องมือแพทย์) การขอนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อเป็นตัวอย่างหรือเพื่อจัดนิทรรศการ (อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์)
โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอและเอกสารออนไลน์ (e-Submission) ยื่นชำระค่าคำขอและค่าบริการ (e-Payment) และการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมลง FDA Digital Signature (e-License) เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป

Loading