“แคทส์ ดอท คอม” ปรับกลยุทธ์รุกค้าปลีก ตั้งไทยเป็น HUB ขยาย DEALER ทั่วโลก!!

“แคทส์ ดอท คอม” ธุรกิจขายตรงสัญชาติญี่ปุ่น ปรับกลยุทธ์ ดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมงานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น “มะโฮ” รุกหาตัวแทนจัดจำหน่ายร้านยา ทั่วประเทศ จัดโปรโมชั่นท่องเที่ยวดูโรงงานผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นร่วมงานฉลองครบรอบ 25 ปี เตรียมลุย โปรเจ็กต์ใหญ่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศไทยทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ พร้อมตั้งไทยเป็นฮับในการประสานงานกับตัวแทนในต่างประเทศทั่วโลก

เกียรติพงศ์ ตั้งงามจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคทส์ ดอท คอม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “แคทส์ ดอท คอม” ธุรกิจขายตรงสัญชาติญี่ปุ่น เปิดดำเนินธุรกิจขายตรงในประเทศไทยมาแล้วกว่า 15 ปี โดยมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยตั้งอยู่ที่อาคารอิมพีเรียล ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการจัดจำหน่ายในรูปแบบค้าปลีกเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีแค่ช่องทางการทำธุรกิจแบบเครือข่ายเพียงอย่างเดียว หลังจากการปรับรูปแบบการทำธุรกิจที่เป็นระบบตัวแทน บริษัทมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวแทนที่เป็นร้านยาทั่วประเทศให้การตอบรับที่ดีมาก นอกจากนี้ในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศกัมพูชามีการเติบโตดีเช่นกัน เพราะบริษัทสามารถเจาะตลาดโรงพยาบาลได้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์

“สำหรับการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจในการหาเป็นระบบตัวแทนมากกว่าที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบขายตรงหรือเครือข่ายเพียงอย่างเดียวนั้น บริษัทมองว่าตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ธุรกิจขายตรงดูซบเซาอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีความน่าดึงดูดในการทำธุรกิจ เมื่อเทียบกับช่วงแรก ๆ ที่บริษัทเข้ามาดำเนินธุรกิจ ในประเทศไทย นอกจากนี้การเข้ามาของตลาด E-commerce ทำให้นักธุรกิจมีทางเลือกและช่องทางการทำธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น สะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือพฤติกรรม ของผู้บริโภคและคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความสนใจในธุรกิจขายตรงอีกด้วย แต่ด้วยอานิสงส์ของบริษัทที่เป็นที่รู้จักทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นบริษัทที่นำเข้าผลิตภัณฑ์จากประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ “มะโฮ” ที่มีงานวิจัยรองรับ ทำให้ได้รับเสียงตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี”

ด้านกลยุทธ์การตลาด เกียรติพงศ์ กล่าวว่า ในตอนนี้บริษัทเน้นการออกตลาดโดยการลงพื้นที่กระจายไปทุกภูมิภาค เพื่อสร้างตัวแทนใหม่ ๆ ซึ่งเดิมตัวแทนของ “แคทส์ ดอท คอม” ในประเทศไทย เป็นตัวแทนการจัดจำหน่ายที่ทำธุรกิจกับบริษัทมาอย่างยาวนาน โดยตอนนี้กว่า 80% ของการทำธุรกิจเป็นแบบระบบตัวแทนจัดจำหน่าย บริษัทไม่เน้นการจัดประชุมสัมมนาเหมือนในอดีต แต่จะมีการเรียนรู้หรือให้คำปรึกษา ตัวแทนผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก สำหรับธุรกิจขายตรงยังคงดำเนินธุรกิจอยู่เช่นเดิมแต่มีสัดส่วนประมาณ 20%

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างยอดขายได้ดีลำตับต้น ๆ คือ ผลิตภัณฑ์ “มะโฮ” ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะสามารถเข้าไปช่วยในการปรับภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาสามารถมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในตอนนี้สำนักงานใหญ่มอบหมายให้ประเทศไทยจะเป็นฮับในการประสานงานในเรื่องของการหาตัวแทนใหม่ ๆ ทั่วโลก ซึ่งมีการติดต่อไปในหลายประเทศ อาทิ จีน อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งมีการพัฒนาเว็บไซต์ของสำนักงานใหญ่ใหม่จากเดิมที่มีแต่ภาษาญี่ปุ่น โดยมีการเพิ่มภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเติบโตในต่างประเทศอีกด้วย

เกียรติพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “มะโฮ” ประกอบด้วยเบต้ากลูแคน โครงสร้าง β-1,3-1,6 ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงยีสต์ดำสายพันธุ์ Aureobasidium มีลักษณะคล้ายเจล ผลิตด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย สำหรับกระตุ้นระบบภูมิต้านทานโรคและดูแลสุขภาพ และสามารถทำยอดขายได้สูงสุดในช่วงการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แคทส์ ดอท คอม ประเทศไทย เตรียมสร้างอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ใหญ่ที่ร่วมกับโรงงานผลิต ในการนำผลิตภัณฑ์มาทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลในประเทศไทย โดยในตอนนี้บริษัทได้ติดต่อสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลในประเทศไทยหลายแห่งในการทำวิจัยผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและตัวแทนจัดจำหน่าย ซึ่งจากเดิมที่มีงานวิจัยแต่จากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น คาดการณ์ว่า น่าจะดำเนินการเสร็จภายใน 1 ปี

นอกจากนี้บริษัทยังมีโปรโมชั่นท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่นในทุก ๆ ปี เพื่อพาตัวแทนไปเที่ยวชมโรงงานผลิตและเพื่อเป็นการชาร์จพลังให้กับตัวแทน รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับตัวแทนอีกด้วย โดยในปีนี้มีตัวแทนสามารถพิชิตโปรโมชั่น ได้ประมาณ 40 ราย ซึ่งในปีนี้จะมีความพิเศษตรงที่เป็นการฉลองครบรอบ 25 ปี สำนักงานใหญ่ “แคทส์ ดอท คอม” ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะออกเดินทางในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566” เกียรติพงศ์ กล่าวสรุป

Loading